Investor Relations

Outstanding Investor Relations Awards 2017 & 2020

SET Symbol RS
Last Done 12.90 THB
Change -0.40
% Change -3.01%
Volume 1,168,883
Day's Range 12.90 - 13.30
52 Weeks' Range 12.70 - 15.50
Updated 28 Mar 2024 16:36

IR Sharing

"เทคนิคผ่อนบ้าน...ให้เงินบานน้อยที่สุด"

จริงอยู่ที่ว่าการซื้อที่พักอาศัยในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์อย่าง “บ้าน” อาจไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนเมื่อเทียบกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบ

แต่ด้วยคำว่า “บ้าน” ยังหมายถึงความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทรพึ่งพาซึ่งกันและกันของคนในครอบครัวด้วย

สุดท้ายแล้ว..บ้านจึงเป็นสิ่งที่ควรจะมี แล้วเราต้องเรียนรู้ทริคอะไรบ้างล่ะ ที่จะทำให้สามารถครอบครองบ้านได้ด้วยความสุขที่แท้จริง

“เปิดใจเรียนรู้..ที่จะอยู่กับหนี้”

การผ่อนบ้านที่ยาวนาน 20 – 30 ปี มีสิ่งใดที่คนผ่อนบ้านควรรู้ เพื่อให้อยู่กับหนี้ก้อนนี้ได้อย่างมีความสุข และหมดภาระเร็วที่สุด

 

1) ผ่อนให้ตรงเวลา เมื่อเป็นหนี้..สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะประวัติการชำระหนี้ที่ดี ย่อมส่งผลต่อการขอสินเชื่อและสิทธิพิเศษต่างๆ ในอนาคต

2) มีเงินให้รีบโปะ ดอกเบี้ยบ้านเป็นแบบลดต้นลดดอก หากเงินต้นยิ่งลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ยิ่งน้อย เช่น เงินกู้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ต่อปี หากผ่อนเดือนละ 6,653 บาท จะหมดหนี้ได้ใน 30 ปี ..หากผ่อนเพิ่มอีกสักเดือนละ 10% เป็นเดือนละ 7,318 บาท จะหมดหนี้เร็วขึ้น 7 ปี ประหยัดดอกเบี้ย 3.8 แสนบาท หรือ หากแบ่งเงินโบนัสไปโปะหนี้เพิ่มสัก 1 เท่าของเงินผ่อนทุกสิ้นปี จะหมดหนี้เร็วขึ้น 6 ปี ประหยัดดอกเบี้ย 3.2 แสนบาท หรือ หากทำสองอย่างพร้อมกันจะหมดหนี้เร็วขึ้น 10 ปี ประหยัดดอกเบี้ยถึง 5.5 แสนบาท

3) เช็กเงื่อนไขการโปะ แต่ละธนาคารมีระบบและเงื่อนไขการโปะที่ส่งผลต่อการหักเงินผ่อนอัตโนมัติที่ต่างกัน เช่น ยังคงหักเงินผ่อนจำนวนเท่าเดิม หรือ หักเงินเฉพาะส่วนต่างกรณีโปะน้อยกว่ายอดผ่อน ฯลฯ .. หากเป็นการหักเงินเฉพาะส่วนต่าง ก็ควรมีการวางแผนโปะให้ดี เช่น ยอดผ่อนเดือนละ 10,000 บาท หากต้องการโปะ 5,000 บาท ก็ควรเตรียมเงินไว้ 15,000 บาท โดยอาจรอหลังวันเดือนออกเพื่อนำเงิน 5,000 บาท ไปรวมกับเงินที่จะผ่อนปกติ 10,000 บาท ไปโปะในช่องทางของธนาคารในครั้งเดียวจำนวน 15,000 บาท เป็นต้น

4) ลดดอกเบี้ยเมื่อหมดโปรฯ ช่วงประมาณ 3 ปีแรกของการผ่อนบ้าน มักเป็นช่วงที่ได้รับโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้..หากต้องการลดภาระดอกเบี้ย ผู้กู้มี 2 ทางเลือก ได้แก่ การขอลดดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม (Retention) และ การย้ายสถาบันการเงินใหม่ (Refinance)

“ผ่านการผ่อนมาครบ 3 ปี .. Re ยังไงให้ตรงไลฟ์สไตล์ตัวเอง”

เมื่อผู้กู้ผ่อนบ้านมาเป็นเวลา 3 ปี ผู้กู้มักจะรีไฟแนนซ์เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน แต่ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดภาระในการแบกรับอัตราดอกเบี้ยได้ นั่นคือ รีเทนชั่นหรือการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม ซึ่งธนาคารหลายแห่งได้ประชาสัมพันธ์โครงการนี้มากขึ้น โดยชูจุดเด่นในเรื่องของความสะดวกสบายในการจัดเตรียมเอกสาร และระยะเวลาการอนุมัติที่สั้นกว่าเพื่อดึงดูดใจ

การขอลดดอกเบี้ยธนาคารเดิม (Retention)

หลักการคือ การไปต่อรองกับธนาคารเดิมที่ผ่อนอยู่ว่า..สามารถลดดอกเบี้ยให้เราได้ไหม โดยทั่วไปแล้วจะขึ้นอยู่กับประวัติการชำระเงินของผู้กู้ เช่น ผ่อนบ้านมาตลอด 3 ปี ไม่เคยจ่ายช้าเลย แบบนี้มีโอกาสที่ธนาคารเดิมจะยอมลดดอกเบี้ยให้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารนั้นๆ ด้วย เพราะบางธนาคารก็ไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าเดิม

ข้อดี ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือไม่ต้องไปทำเรื่องกับธนาคารใหม่ แค่เดินไปคุยกับธนาคารเดิมที่ผ่อนอยู่ว่าจะขอลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

ข้อเสีย ที่คนไม่ค่อยนิยมขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม เพราะว่าธนาคารเดิมที่จะลดดอกเบี้ยให้ มักจะลดดอกเบี้ยลงให้ไม่เยอะ เช่น จากดอกเบี้ย 7.7% ลดให้เหลือ 5.5% ทั้งๆ ที่รีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ให้ 2.90% พอเราเทียบกันอย่างตรงไปตรงมา ว่าถ้าเรารีไฟแนนซ์และยอมเสียค่าใช้จ่าย จะคุ้มกว่าอยู่กับธนาคารเดิมหรือเปล่า

การรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ (Refinance)

การรีไฟแนนซ์คือการย้ายวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเดิม ไปยังธนาคารใหม่ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ซึ่งเป็นวิธีที่คนนิยมมากในปัจจุบัน เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยถูกลงอย่างชัดเจน ทำให้เงินที่ผ่อนแต่ละเดือนไปตัดเงินต้นมากขึ้น และผ่อนหมดเร็วขึ้นนั่นเอง

ข้อดี เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยมักจะถูกกว่าที่ธนาคารเดิมยอมลดดอกเบี้ยให้ (ถ้ามองภาพไม่ออก ให้นึกภาพว่าธนาคารใหม่อยากได้ลูกค้าคนนี้ ในขณะที่ธนาคารเดิมก็ลดดอกเบี้ยให้ ธนาคารใหม่เลยอัดโปรโมชั่นแบบดอกเบี้ยถูกสุดๆ เพื่อจูงใจลูกค้าให้รีไฟแนนซ์มา จึงทำให้ส่วนใหญ่แล้ว รีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าลดดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมนั่นเอง)

ข้อเสีย คือขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเสียเวลาที่สุดในการจะรีไฟแนนซ์ครั้งนึง ก็คือการหาและเปรียบเทียบว่าธนาคารไหนให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ดีที่สุด เพราะประเทศไทยก็มีธนาคารตั้งเกือบ 20 แห่ง แต่ละแห่งก็มีหลายโปรโมชั่น กว่าจะเอามาคำนวณอีกว่าโปรโมชั่นของที่ไหนดีที่สุด จึงทำให้หลายๆ คนล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด

“เลือกทางที่ดี .. แล้วจะ Re ทางไหนดีล่ะ”

ไม่ว่าจะรีเทนชั่น หรือ รีไฟแนนซ์ ถ้าถามว่าเลือกแบบไหนถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน คงตอบได้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงความสะดวกในด้านการจัดเตรียมเอกสาร ความพอใจในด้านบริการ ช่วงเวลาดำเนินการ การวางแผนการใช้เงินของแต่ละคน และที่สำคัญ..แนะนำว่าคุณต้องคำนวณในเรื่องดอกเบี้ย เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพื่อหาในสิ่งที่คุ้มและเหมาะกับตัวคุณมากที่สุด

ที่มา :
https://wealthmeup.com/20190729_homebuyer/
https://www.baania.com/th
https://www.moneyguru.co.th/personal-loan/articles/RetentionvsRefinance/

Information Request

Contact us